พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติแก่เจ้าจอมมารดาตลับ ณ วันพุธ ขึ้น 11 ค่ำเดือน 11 ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417พระองค์ได้เข้าพิธีพระราชโสกันต์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2427 พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 อีก 3 พระองค์ และทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายะ หลังจากเสร็จพระราชพิธีสมโภชแล้วจึงทรงเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร รวมเวลาที่พระองค์ได้ทรงผนวชทั้งสิ้น 22 วัน
เนื่องจากช่วงเวลานั้น ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแผ่อำนาจแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธออีก 3 พระองค์ ไปศึกษาต่อยังทวีปยุโรปและประเทศอังกฤษ เพื่อนำวิชาความรู้มาพัฒนาบ้านเมืองให้เทียมทันอารยประเทศ
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมในประเทศอังกฤษแล้ว พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเลือกศึกษาวิชกฎหมายเนื่องจากขณะนั้นนานาประเทศที่ทำสนธิสัญญากับประเทศไทยไม่ยอมรับกฎหมายไทยว่าเสมอด้วยกฎหมายของอารยประเทศ ทำให้มีปัญหาต่อการปกครองและมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนอยู่เนืองนิจ พระองค์ทรงสอบไล่ได้
ตามหลักสูตรปริญญา B.A.(oxon) ชั้นเกียรตินิยมภายในเวลาเพียง 3 ปี พระชันษาได้ 20 พรรษา
เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เสด็จกลับสยามประเทศแล้วก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการ ทรงสามารถทำงานในกรมนั้นได้ทุกตำแหน่ง ประกอบกับทรงร่างพระราชหัตถเลขาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีในปีเดียวกันนั้น
แต่ในเวลานั้น เอกราชทางการศาลของประเทศสยามได้รับความกระทบกระเทือนเป็นอย่างมากกล่าวคือ สยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritorial rights) ให้แก่ชาวต่างชาติที่มาพำนักในสยามประเทศหลายครั้ง ด้วยเหตุที่กฎหมายยังมีความล้าสมัยอยู่มาก พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะเข้ารับราชการตุลาการ ทรงเข้าศึกษากฎหมายไทยโดยการค้นคว้าจากราชเลขานุการฝ่ายกฤษฎีกา โดยมีขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) และเจ้าพระยามหิธรเป็นผู้ถวายความสะดวก
ในปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งข้าหลวงพิเศษขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อจัดการศาลหัวเมืองในมณฑลอยุธยาเป็นแห่งแรก โดยให้เสด็จในกรมฯ เป็นสภานายกพิเศษ ทรงตัดสินคดีทั้งปวงด้วยพระองค์เอง โดยความรวดเร็วและยุติธรรมเป็นที่ปรากฎในพระปรีชาสามารถแก่หมู่ชนในมณฑลนั้น
เนื่องด้วยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้ประชวร จึงกราบบังคมลาออกจากตำแหน่งในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเสด็จในกรมฯ ขึ้นเป็นเสนาบดีสืบแทน นับเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมลำดับ 3 ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 22 พรรษา เสด็จในกรมฯ ทรงสนพระทัยและหาหนทางในการปรับปรุงแก้ไข จัดระเบียบศาลและการยุติธรรมทั่วประเทศไทยให้เรียบร้อย ทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ว่า มี 2 แนวทางคือ การทำให้บ้านเมืองมีกฎหมายดี และการทำศาลให้มีผู้พิพากษาที่ดี และมีคุณธรรม
หลังจากที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้เข้ารับราชการและบำเพ็ญคุณความดีเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอันมากแล้ว จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาขึ้นเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นาคนาม"ในปี พ.ศ. 2442
นับเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีเป็นระยะเวลา 4 ปี ระหว่างนั้นได้ทรงตรากฎและคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการฝ่ายการศาลยุติธรรมไว้หลายฉบับ ตั้งแต่ปี ร.ศ. 115 ถึง ร.ศ. 120 ทั้งหมดรวม 28 ฉบับ ต่อมาใน ร.ศ. 121 ได้ทรงดำรัสให้ยกเลิกกฎเสนาบดีชุดก่อนเสียทั้งหมด และทรงตรากฎและคำสั่งออกใช้ใหม่ถึง 67 ฉบับ ซึ่งบรรดากฎและคำสั่งเหล่านี้นับเป็นที่มาของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมบางมาตราในปัจจุบัน
ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ทรงดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียวก็ได้รับพระบรมราชโองการเลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์คชนาม" จนกระทั่ง พ.ศ. 2462 เสด็จในกรมฯ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะจึงทรงกราบบังคมทูลลาออกและได้เสด็จไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส แต่พระอาการไม่ทุเลาลงจนกระทั่งในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เวลา 21.00 น. พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็เสด็จสิ้นพระชน ณ กรุงปารีส นับพระชนมายุเรียงปีได้ 47 พรรษา บรรดาศิษย์และบุคคลที่คุ้นเคยได้พร้อมใจอัญเชิญพระอัฐิของพระองค์เข้ามาบำเพ็ญกุศลในกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. 2497เนติบัณฑิตสภาได้เริ่มต้นเรียกวันที่ 7 สิงหาคม ว่า "วันรพี" พร้อมทั้งจัดงานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุสรณ์เป็นต้นมาประจำทุกปี